วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

สวนหินธรรมชาติ พุหางนาค
   " มรดกทางธรรมชาติชิ้นเอกของเมืองสุพรรณ
     ที่ควรค่าแก่การปกปักษ์รักษาไว้ "

ความงดงามของสวนหินธรรมชาติดึกดำบรรพ์อายุนับหมื่นล้านปี สวนป่าไม้โบราณอายุนับ 1000 ปี และปริศนาแห่งศาสนสถาน เมืองโบราณอู่ทอง เป็นสถานที่ที่น่าสนใจแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เต็มไปด้วยความงดงามทางธรรมชาติ สวนหินที่งดงามตามจินตนาการ ด้วยรูปทรงที่หลากหลาย และริ้วรอยที่สรรสร้างโดยธรรมชาติ ดั่งผลงานชิ้นยอดของศิลปินชั้นเยี่ยม ความงามที่แฝงไว้ซึ่งปริศนา ให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวของอารยธรรมโบราณ ร่องรอยที่ปรากฏเป็นปริศนาให้เราต้องค้นหากันต่อไป

สวนหินธรรมชาติ พุหางนาค





ป่าปรง พันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์อายุนับ 1000 ปี ความงามอันเป็นที่หมายปองของใครหลายคนที่เห็นคุณค่า แต่ขาดจิตสำนึก ...  หากไม่มีความร่วมมือช่วยกันดูแลรักษา ความงดงามที่มากด้วยคุณค่า คงหมดไปจากป่านี้ เป็นความอัศจรรย์ของป่าใกล้เมืองที่ยังหลงเหลือพันธุ์ไม้โบราณมากมายให้เราได้ชื่นชม

สวนหินธรรมชาติ พุหางนาค

จันผา ไม้อนุรักษ์ ที่คนชอบลักลอบตัดไปขาย จันผาที่นี่มีมากมาย แต่ละต้นสูงใหญ่ นั้น
หมายถึงอายุและมูลค่าของไม้ชนิดนี้ และความงดงามของสีสันสดสวยด้วยสีสันดอกไม้ป่า ที่จะเบ่งบานตามธรรมชาติ สีเหลืองของ ดอกสลัดไดอายุหลายร้อยปี ที่จะงดงามในช่วงออกพรรษาของทุกปี
  
หลังลมหนาวส่งลา ใบไม้ป่าร่วงหล่น เหลือเพียงกิ่งก้านยืนต้น เพื่อพลิดอกสีเหลืองอันน่ายล ของไม้งามนาม สุพรรณนิกา และพุดป่าสีขาวบริสุทธิ





ปัจจุบัน สวนหินธรรมชาติ พุหางนาค ได้เปิดให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อยู่ภายใต้การดูแลของวนอุทยานพุม่วงโดยความร่วมมือกับชาวชุมชนในพื้นที่ จัดเส้นทางพาชมความงดงาม และเรียนรู้ธรรมชาติของสวนหินแห่งนี้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันการบุกทำลายและหาประโยชน์ จากทรัพยากรณ์อันทรงคุณค่า โดยหวังให้นักเดินทางท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึกในธรรมชาติ จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องป่าแห่งนี้ ภาพหลุ่มที่เกิดจากการลอบขุดต้นปรง ภาพต้นจันผาที่เหลือเพียงตอขนาดใหญ่ บ่งบอกถึงอนาคตของไม้โบราณเหล่านี้ หากเราไม่ช่วยกันดูแล
  





" นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า กลุ่มหินที่วางซ้อนกันที่พุหางนาค คือ หินตั้ง "

   "หินตั้ง" ที่นักวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่ามนุษย์ยุคโบราณนำหินมาวางซ้อนกันไว้ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา
   หินตั้ง เป็นวัฒนธรรมหินที่คนพื้นเมืองยุคดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิอุษาคเนย์จัดวางเป็นกลุ่มให้ได้รูปลักษณะต่างๆ ใช้บอกเขตศักดิ์สิทธิ์ พบมากในอีสานและลาว เช่น ไหหินที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว ครั้นรับพุทธศาสนาก็ปรับหินตั้งเป็นเสมาหิน เช่น ที่ภูพระบาทบัวบก-บัวบาน อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
  
หินตั้ง ที่ป่าหินตั้ง บนยอดเขาพุหางนาค เมืองอู่ทอง สุพรรณ คือสิ่งก่อสร้างในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ ที่มีอยู่ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ จากอินเดีย แสดงว่าบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองหรือรัฐเล็กๆอยู่แล้ว ก่อนติดต่อรับอารยธรรมอินเดีย  (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม)
 


พุหางนาค เป็นชื่อยอดเขาลูกหนึ่งบนทิวเขาศักดิ์สิทธิ์ที่มีหลายยอดในชื่อต่างๆกัน (เช่น เขารางกะปิด, เขาพระ, เขาทำเทียม, เขาถ้ำเสือ) ของทิวเขาด้านหลัง (หรือด้านตะวันตก) เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี

ชื่อเขาพุหางนาค หมายถึง ยอดเขาที่มีน้ำผุดขึ้นจากใต้ดิน แล้วไหลคดเคี้ยวเป็นแนวยาวคล้ายหางพญานาคลงตีนเขา

พุ แปลว่า ผุดขึ้น, แตกขึ้น แล้วเรียกน้ำที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินด้วยแรงดันธรรมชาติภายในว่าน้ำพุ

น้ำพุน้ำผุดที่ไหลคดเคี้ยวจากบนเขาลงตีนเขา แล้วไหลผ่านช่องเขาลงสู่ที่ราบระหว่างเขาพระทางเหนือ กับเขาทำเทียมทางใต้ กลายเป็นทางน้ำใหญ่เรียก ห้วยหางนาค(ห้วย หมายถึงทางน้ำไหล เป็นแนวยาวจากภูเขา)

ห้วยหางนาค ไหลจากช่องเขาศักดิ์สิทธิ์ด้านตะวันตก ลงที่ราบเชิงเขาลาดเอียงสู่ด้านตะวันออก แล้วเข้าคูเมืองอู่ทอง หล่อเลี้ยงผู้คนในเมือง ก่อนไหลลงแม่น้ำจรเข้สามพันไปออกแม่น้ำท่าจีน

บนยอดเขาพุหางนาคอันศักดิ์สิทธิ์ อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ สำรวจพบหินตั้งเนื่องในศาสนาผี ราว 2,000 ปีมาแล้ว โดยใช้งานต่อเนื่องในศาสนาพุทธยุคทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว

น้ำที่ผุดจากเขาพุหางนาค แล้วไหลเป็นห้วยหางนาคลงสู่ที่ราบจึงเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ หมายความว่าสองฝั่งห้วยหางนาคก็เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย

คนยุคทวารวดีเมื่อรับศาสนาพุทธจึงสร้างพุทธสถาน เป็นสถูปเจดีย์, วิหาร, และอื่นๆไว้สองฝั่งห้วย นักโบราณคดีกรมศิลปากรจึงขุดพบธรรมจักรสลักบนหิน พร้อมเสาแปดเหลี่ยมกับแท่นรองรับธรรมจักร สัญลักษณ์พุทธศาสนายุคพระเจ้าอโศก บนฝั่งห้วยหางนาค

ห้วยหางนาค ยุคทวารวดีเป็นทางน้ำกว้างใหญ่ มีน้ำไหลแรงตลอดปี เพราะมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์กักเก็บน้ำไว้บนเขาพุหางนาค จึงไม่ขาดน้ำ

แต่ยุคปัจจุบันไม่มีน้ำไหล แม้น้ำขังก็หายากมากๆ ยิ่งถึงหน้าแล้งไม่มีน้ำสักหยด
อ่างเก็บน้ำเขาพระที่ลงทุนสร้างไว้หวังจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในตัวอำเภอ จึงไม่มีน้ำให้เก็บกัก ก็เหลือแต่ซากสันอ่างไว้เป็นอนุสรณ์สถาน

วัฒนธรรมมีชีวิต แต่คนนั่นแหละมีส่วนทำลายให้วัฒนธรรมไร้ชีวิต

ทางการไม่ว่าส่วนกลาง, ส่วนภูมิภาค, หรือส่วนท้องถิ่น ถ้ารักจะทำเมืองอู่ทองเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องห้ามสร้างอาคารสถานที่บริเวณสองฝั่งห้วยหางนาคนี้ แล้วหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ในห้วยให้ได้
 

                                              สุจิตต์ วงษ์เทศ
http://www.facebook.com/sujitwongthes/posts/537232976369776